วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

โควิด-19 รักษาหาย


สธ. ยืนยันไทย ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาหายเพิ่ม 2 ราย

ข่าวดีโควิด-19 หายเพิ่ม2 ราย

        สธ. ยืนยันไทยพบมีผู้ป่วยโควิด-19 รักษาหายเพิ่ม 2 ราย รวมผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 50 ราย รักษาในโรงพยาบาล 16 ราย กลับบ้านแล้ว 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส 80-90% อาการไม่รุนแรง

         วันนี้ (8 มี.ค.) นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ว่า สถานการณ์ ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น. มีผู้ป่วยรักษาหาย 2 รายทำให้วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย กลับบ้านแล้ว 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 50 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 7 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 4,366 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 181 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 4,185 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,629 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,737 ราย
          สถานการณ์ทั่วโลกใน 96 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 8 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 106,195 ราย เสียชีวิต 3,600 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,696 ราย เสียชีวิต 3,097 ราย

       นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวเสริมว่า จากจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหาย แสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่มีโอกาสรักษาหายได้ ในจำนวน 33 คนมีคนที่ใช้ยาต้านไวรัสจริงๆ น้อยมาก แปลว่าโรคนี้หายได้เอง    โดยไม่ต้องรับยาต้านไวรัส    หากดูตัวเลขจากต่างประเทศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80-90% หายได้เอง    ยืนยันว่าโรคนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส แต่การที่ต้องรับผู้ป่วยทั้ง 50 คนเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยแพร่เชื้อ ให้อยู่ในห้องแยก โอกาสที่เขาแพร่โรคจะเป็นศูนย์ทันที ลดความเสี่ยงแพร่โรคในสังคม นี่คือจุดประสงค์ในการดูแลในโรงพยาบาลช่วงนี้
          สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ กระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งว่าปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัยชนิด Surgical Mask ในประเทศ สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น/วัน โดยได้จัดสรรให้กับบุคลากรสาธารณสุขในสถานพยาบาล จำนวน 700,000 แสนชิ้น/วัน ให้กับ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 400,000 ชิ้น/วัน โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 30,000 ชิ้น/วัน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย/คณะทันตแพทย์/โรงพยาบาลและคลินิกเอกชน/ โรงพยาบาลสังกัด กทม. 270,000 ชิ้น/วัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น